โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ (อังกฤษ : Kalasinpittayasan School) (อักษรย่อ: ก.พ.ส ,K.P.S.) เป็นสถานศึกษาแห่งแรกของจังหวัดกาฬสินธุ์[ซึ่งแต่เดิมเป็นโรงเรียนชายล้วน ปัจจุบันจัดอยู่ในประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ รูปแบบสหศึกษา ทำการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
ที่ตั้ง | |
---|---|
เลขที่ 66 ถนนอรรถเปศล ตำบลกาฬสินธุ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ 46000
โทรศัพท์ 0-438-11278 โทรสาร 0-438-13409 |
|
พิกัด | 16.4304°N 103.5122°Eพิกัดภูมิศาสตร์: 16.4304°N 103.5122°E |
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | ก.พ.ส / KPS |
ประเภท | โรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัด โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ |
คำขวัญ | “ประพฤติดี มีวินัย ตั้งใจเรียน” ลูก ก.พ.ส. ปัญญาเยี่ยม เปี่ยมคุณธรรม (การศึกษา คือ ชีวิต) |
สถาปนา | พ.ศ. 2456 ก่อตั้งโรงเรียน พ.ศ. 2470 พระราชทานนามโรงเรียน |
ผู้ก่อตั้ง | เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส) |
หน่วยงานกำกับ | สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ |
รหัส | 1046101001 |
ผู้อำนวยการ | ดร.จารุวรรณ รัตนมาลี |
จำนวนนักเรียน | 3,529 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566)[1] |
ขนาดของชั้นเรียนเฉลี่ย | ม.1 – ม.6 |
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอน | ภาษาที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี. |
ห้องเรียน | 90 ห้องเรียน 7 อาคารเรียน |
สี | ████ เขียว – เหลือง |
เพลง | มาร์ช ก.พ.ส,ถิ่นเขียว-เหลือง |
เว็บไซต์ | http://www.kalasinpit.ac.th |
หลวงพ่อศิลา : พระพุทธรูปประจำโรงเรียน |
ประวัติโรงเรียน
โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ ได้ก่อตั้งขึ้นในปีพุทธศักราช 2456 โดยผู้ที่ก่อตั้งโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เป็นผู้ก่อตั้ง ในปีการศึกษาแรกที่มีการเรียนการสอน โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ได้เปิดสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 ในปีแรกมีนักเรียนที่เข้ารับการเรียนการสอนทั้งสิ้น 50 คน โดยมี นายบุญถม ชนะกานนท์ เป็นผู้บริหารโรงเรียนในขณะนั้น และมีคุณครู อีก 2 ท่าน คือ นายอุทา พิมพะสาลี และนายเหลา พิมพะสาลี
.
ช่วงที่ 1 ยุคก่อตั้ง(พ.ศ. 2456-2484)
- พ.ศ. 2456 นักเรียนโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ได้ย้ายไปเรียนที่วัดใต้โพธิ์คำ
- พ.ศ. 2460 นักเรียนโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ได้ย้ายไปเรียนที่เรือนจำเก่า
- พ.ศ. 2462 นักเรียนโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ได้ย้ายไปเรียนที่สโมสรเสื่อป่า
- พ.ศ. 2472 นักเรียนโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ได้ย้ายไปเรียนที่วัดหอไตรปิฏการาม
- พ.ศ. 2471 นักเรียนโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ได้ย้ายไปเรียนที่ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ เพราะโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ถูกไฟไหม้ และได้มีการเริ่มลงทะเบียนเลขประจำตัวนักเรียนใหม่ โดยเริ่มนับจากหมายเลข 1
- พ.ศ. 2474 นักเรียนโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ได้ย้ายมาเรียนในพื้นที่ปัจจุบัน และในปีเดียวกันได้มีการสร้างอาคารเรียนหลังแรก(อาคารเสาใหญ่) โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 10,000 บาท พร้อมทั้งบ้านพักครู 1 หลัง เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2474
- พ.ศ. 2484 โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ได้มีการเปิดสอนเฉพาะระดับมัธยมศึกษา
ช่วงที่ 2 (พ.ศ. 2510-2547)
- พ.ศ. 2510 โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนมัธยมศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท
- พ.ศ. 2534 โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานระดับ โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ ประจำปีการศึกษา 2534 ในขณะนั้น นายวินัย เสาหิน ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์
- พ.ศ. 2538 นายบรรเทา วรรณจำปี มาดำรงตำแหน่งแทน นายชุมพล เวียงเพิ่ม ซึ่งย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จังหวัดขอนแก่น
- พ.ศ. 2543 นางพิสมัย อารีย์ มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนแทนนายบรรเทา วรรณจำปี ซึ่งเกษียณอายุราชการ
- พ.ศ. 2543 โรงเรียนได้งบประมาณค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างอาคารเรียนแบบ 324/ล41 (หลังคาทรงไทย) งบประมาณในการก่อสร้าง 14,850,000 บาท โดยสร้างแทนอาคารเสาใหญ่ที่ได้ทรุดโทรมไป
- พ.ศ. 2546 โรงเรียนก่อสร้างโรงอาหารระหว่างหอประชุมกับอาคารพลศึกษาและนายวานิชย์ ติชาวัน ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนในปีเดียวกันนี้
- พ.ศ. 2547 โรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ (MEP)โดยเปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 2 ห้องเรียน ๆ ละ 27 คน รวม 54 คน
.
ช่วงที่ 3 (พ.ศ. 2548-ปัจจุบัน)
- พ.ศ. 2548 โรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ (MEP) โดย
เปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จัดศูนย์แนะแนวของเขตพื้นที่การศึกษาและศูนย์สอบของสำนักงานทดสอบแห่งชาติ ปรับปรุงห้องสมุดทั้งระบบ มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ มีห้องศึกษาค้นคว้าระบบอินเทอร์เน็ตและห้องสมุดเสียง (ใช้สำหรับศึกษาความรู้จากสื่อ T.V. /C.D./D.V.D./V.C.D.) จัดให้มีการสอนภาษาจีนให้กับนักเรียนที่มีความสนใจ โดยครูซึ่งเป็นเจ้าของภาษา จัดซื้อคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการเรียนการสอน จำนวน 3 ห้อง 78 เครื่อง ด้วยเงินบริจาคอย่างมีวัตถุประสงค์
- พ.ศ. 2549 โรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ (MEP) โดย
เปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รวมจำนวนทั้งสิ้น 4 ห้อง จัดทำห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 1 ห้อง พร้อมจัดซื้อ เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการเรียนการสอนจำนวน 20 เครื่อง จัดให้มีการประกวดโครงงาน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์สมบัติ 60 ปี ส่งเสริมการแข่งขันทักษะด้านต่าง ๆ จัดให้มีการสอนภาษาจีนให้กับนักเรียนที่มีความสนใจ โดยครูซึ่งเป็นเจ้าของภาษา ขยายถนนคอนกรีตทางเดินทางเท้าเข้าห้องน้ำนักเรียนหญิงหลังอาคาร 1 เทพื้นคอนกรีตแก้ปัญหา ที่เก็บขยะข้างห้องสมุด ปรับปรุงโรงเก็บรถจักรยานยนต์นักเรียน ติดตั้งโครงเหล็กรอบ ๆ อาคารโรงรถทั้ง 3 แห่ง สร้างโรงเรือนหน้าห้องโสตทัศนศึกษาพร้อมปูกระเบื้อง ปูพื้นกระเบื้องหลังอาคาร 5 ทั้งหมด สร้างป้ายหินแกรนิตลานประดู่ ปรับปรุงภูมิทัศน์ ศาลพระภูมิและลานพระรูปใหม่ทั้งหมด ปรับปรุงและขยายห้องคอมพิวเตอร์ให้กว้างขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอน สร้างหลังคากันแดดและฝน ทางเดินเชื่อมต่ออาคาร 2 และ 3 สร้างหลังคาและปูกระเบื้องด้านข้างห้องทะเบียนวัดผลเพื่อให้นักเรียนใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และจัดตู้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ปรับปรุง ที่ดื่มน้ำสำหรับนักเรียนจำนวน 6 จุด เพื่อให้ปลอดภัยจากไฟรั่ว ปรับปรุงห้องน้ำนักเรียนหญิง หลังอาคารวิทยาศาสตร์ สร้างและปรับปรุงโรงเรือนหลังอาคารอุตสาหกรรม เพื่อใช้ในการเรียน การสอนกิจกรรมนักศึกษาวิชาทหาร ขยายถนนหน้าอาคารวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นที่จอดรถยนต์ จัดทำแผ่นเหล็กปูตะแกรงปิดกั้นร่องน้ำหน้าอาคารประชาสัมพันธ์
- พ.ศ. 2550 นายเสน่ห์ คำสมหมาย มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนแทน นายวานิชย์ ติชาวัน ซึ่งเกษียณอายุราชการ โรงเรียนได้งบประมาณค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างอาคารเรียนแบบ 216 ปรับปรุง 46 งบประมาณในการก่อสร้าง 14,773,000 บาท โดยสร้าง
แทนอาคารชั่วคราวที่ได้ทรุดโทรม ก่อสร้างศาลาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา บริเวณหน้าอาคาร 5 จำนวน 2 หลัง ด้วยเงินเหลือจ่ายจากการงดตอกเสาเข็มอาคารเรียน 216 ปรับปรุง 46 ด้วยวงเงินก่อสร้าง 140,000 บาท ก่อสร้างศูนย์เรียนรวมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา บริเวณใต้ถุนอาคาร 6 วงเงินก่อสร้าง 1,719,000 บาท ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณหน้าและหลังอาคาร 6 เป็นลานธรรมและรอบบริเวณพระพุทธรูปประจำโรงเรียน ได้ปรับปรุงระบบเสียงประชาสัมพันธ์ตามอาคารเรียนทุกหลังและภายในบริเวณโรงเรียน นอกจากนี้ได้พัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพื่อส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (GC)ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1 ห้องเรียน ได้นำนักเรียนในโครงการไปทัศนศึกษา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม จัดประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนและนำนักเรียน ไปแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ(MEP) จัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษ 4 รายวิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ จัดสอนเสริมหลังเลิกเรียนเป็นภาษาไทย คือวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ได้นำนักเรียนในโครงการไปทัศนศึกษา ณ ประเทศสิงคโปร์ รวม 5 วัน
- พ.ศ. 2551 นายเสน่ห์ คำสมหมาย มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ โรงเรียนได้พัฒนาการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพื่อส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (TSM และGC) ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 2 ห้องเรียนและระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 2 ห้องเรียน มีการนำนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ไปฝึกการทำโครงงาน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ มีการนำนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ไปฝึกการใช้ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ช่วงปิดภาคเรียน ส่วนนักเรียนในโครงการ จัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ(MEP) ได้นำนักเรียนในโครงการไปทัศนศึกษา
ณ ประเทศสิงคโปร์ รวม 5 วัน ด้านอาคารสถานที่มีการสร้างห้องน้ำหลังอาคาร 6 จำนวน 1 หลัง เป็นห้องน้ำสำหรับนักเรียนหญิงและนักเรียนชายเพื่อบริการผู้ที่มาใช้ห้องเฉลิมพระเกียรติของทางโรงเรียนด้วย ได้สร้างทางเชื่อมอาคาร 1กับอาคาร 6 ทาสีอาคารเรียนต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศให้โรงเรียนสดใสยิ่งขึ้น
- พ.ศ. 2552 นายเสน่ห์ คำสมหมาย ได้พัฒนาโรงเรียนไปสู่โรงเรียนผู้นำการเปลี่ยนแปลง
ได้ให้การช่วยเหลือโรงเรียนน้อง มีการนำวงโปงลางไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ณ ประเทศตุรกีเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ได้สร้างทางเชื่อมระหว่างอาคาร 1 กับอาคาร 2 โรงเรียนได้ซื้อรถบัสมา 1 คันใช้ในการนำนักเรียนไปทัศนศึกษาไปเรียนรู้ในแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ โรงเรียนได้พัฒนาการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพื่อส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (TSM และGC) ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 2 ห้องเรียนและระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1 ห้องเรียน พัฒนาการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพื่อส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางภาษา (TSL) ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1 ห้องเรียน
.
รายนามครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ และผู้อำนวยการโรงเรียน
ลำดับ | รายนาม | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ | ตำแหน่ง |
1 | นายบุญถม ชนะกานนท์ | พ.ศ. 2456 | พ.ศ. 2466 | ครูใหญ่ |
2 | นายกว้าง ทองทวี | พ.ศ. 2466 | พ.ศ. 2474 | ครูใหญ่ |
3 | นายประเคน โนนศรีชัย | พ.ศ. 2474 | พ.ศ. 2489 | ครูใหญ่ |
4 | นายประภาส ศุภสาร | พ.ศ. 2489 | พ.ศ. 2490 | ครูใหญ่ |
5 | นายประเสริฐ สื่อสิน | พ.ศ. 2490 | พ.ศ. 2492 | ครูใหญ่ |
6 | นายแก้ว อุปพงศ์ | พ.ศ. 2492 | พ.ศ. 2494 | ครูใหญ่ |
7 | นายพลอย มหาแสน | พ.ศ. 2498 | พ.ศ. 2507 | ครูใหญ่ |
8 | นายอุดร เวียงเพิ่ม | พ.ศ. 2507 | พ.ศ. 2511 | อาจารย์ใหญ่ ครูใหญ่ |
9 | นางเสริมศิริ ทองธรรมชาติ | พ.ศ. 2511 | พ.ศ. 2512 | รก. อาจารย์ใหญ่ |
10 | นายล้วน วรนุช | พ.ศ. 2512 | พ.ศ. 2513 | อาจารย์ใหญ่ |
11 | นายมาบ ภูมาศ | พ.ศ. 2513 | พ.ศ. 2515 | อาจารย์ใหญ่ |
12 | นายสำลี ผดุงศรี | พ.ศ. 2515 | พ.ศ. 2525 | อาจารย์ใหญ่ |
13 | นายคำพันธ์ คงนิล | พ.ศ. 2525 | พ.ศ. 2527 | ผู้อำนวยการ |
14 | นายพิน ศรีอาจ | พ.ศ. 2527 | พ.ศ. 2530 | ผู้อำนวยการ |
15 | นายวินัย เสาหิน | พ.ศ. 2530 | พ.ศ. 2535 | ผู้อำนวยการ |
16 | นายชุมพล เวียงเพิ่ม | พ.ศ. 2535 | พ.ศ. 2538 | ผู้อำนวยการ |
17 | นายบรรเทา วรรณจำปี | พ.ศ. 2538 | พ.ศ. 2543 | ผู้อำนวยการ |
18 | นางพิสมัย อารีย์ | พ.ศ. 2543 | พ.ศ. 2546 | ผู้อำนวยการ |
19 | นายวานิชย์ ติชาวัน | พ.ศ. 2546 | พ.ศ. 2550 | ผู้อำนวยการ |
20 | นายเสน่ห์ คำสมหมาย | พ.ศ. 2551 | พ.ศ. 2561 | ผู้อำนวยการ |
21 | นายสงกรานต์ พันโนราช | พ.ศ. 2561 | พ.ศ. 2563 | ผู้อำนวยการ |
22 | นายเทอดเกียรติ ขันธ์พิมูล | พ.ศ. 2563 | พ.ศ.2565 | ผู้อำนวยการ |
23 | นางจารุวรรณ รัตนมาลี | พ.ศ.2565 | -ปัจจุบัน | ผู้อำนวยการ |
.
แผนการเรียนพิเศษ
โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ จัดการศึกษาในระดับ มัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายดังนี้
- มัธยมศึกษาตอนต้น
- โครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (มัธยมศึกษาตอนต้น) (Talented Student Program on Science and Mathematic : TSM)
- โครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางด้านภาษาอังกฤษ (มัธยมศึกษาตอนต้น)(Mini English Program : MEP)
- มัธยมศึกษาตอนปลาย
- โครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (มัธยมศึกษาตอนปลาย)(Gifted Children Program : GC)
- โครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางด้านภาษา (มัธยมศึกษาตอนปลาย)(International Math Science : IMS )
- โครงการห้องเรียนพิเศษโครงการส่งเสริมความสามารถทางภาษา ศิลปะ และสังคมที่สอนโดยใช้ภาษาอังกฤษ (Intensive Program : IP)
อาคาร/สถานที่
- อาคารเรียน 1 เป็นอาคารที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของโรงเรียน ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2523 เป็นอาคารคอนกรีตเสริทเหล็ก สูง 3 ชั้นประกอบไปด้วยห้องต่างๆดังนี้
- ชั้นที่ 1 ห้องประชุมเล็ก,ฝ่ายธุรการการเงิน,ห้องแผนงาน,กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และห้องพัสดุ
- ชั้นที่ 2 ห้องปฏิบัติการวิทย์ 1-4,ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ และเคมี
- ชั้นที่ 3 ปฏิบัติการวิทย์ 5,ห้องเรียนสีเขียว,ห้องปฏิบัตการชีวะ 1-2 และห้องเรียน
- อาคารเรียน 2 สร้างเมื่อ พ.ศ. 2521 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 3 ชั้น ประกอบด้วยห้องต่างๆดังนี้
- ชั้นที่ 1 สำนักฝ่ายวิชาการ,ห้องคอมพิวเตอร์ MEP,ศูนย์ความร่วมมือภาษาอังกฤษ ไทย-นิวซีแลนด์ และห้องเรียน
- ชั้นที่ 2 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย,กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ,สำนักงาน MEP,ห้องเรียน MEP
- ชั้นที่ 3 ห้องปฏิบัติการภาษาต่างประเทศ 1-2, สำนักงาน TSL,ห้องเรียน TSL
- อาคารเรียน 3 ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2530 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 3 ชั้น ประกอบด้วยห้องต่างๆดังนี้
- ชั้นที่ 1 ห้องโสตทัศนศึกษา,กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลนามัย,กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม,กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (คอมพิวเตอร์)
- ชั้นที่ 2 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์,ศูนย์ปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ และห้องเรียน
- ชั้นที่ 3 ห้องดนตรีนาฏศิลป์,ห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ และห้องเรียน
- อาคารเรียน 4 เป็นอาคารที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของโรงเรียน ก่อสร้าง เมื่อพ.ศ. 2533 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 4ชั้น ประกอบด้วยห้องต่างๆดังนี้
- ชั้นที่ 1-4 ห้องเรียน
- อาคารเรียน 5 เป็นอาคารก่อสร้าง เมื่อพ.ศ. 2542 สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2544 โดยก่อสร้างแทนอาคารเสาใหญ่ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 4 ชั้น ประกอบด้วยห้องต่างๆดังนี้
- ชั้นที่ 1 เอนกประสงค์,ศูนย์แนะแนว และห้องจัดรายการวิทยุ
- ชั้นที่ 2-4 ห้องเรียน
- อาคารเรียน 6 เป็นอาคารแบบ 216ล เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของโรงเรียน ก่อสร้างเมื่อพุทธศักราช 2549 แล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 ประกอบด้วยห้องต่างๆดังนี้
- ชั้นที่ 1 ห้องประชุมใหญ่,สำนักงานห้องเรียนวิทยาศาสตร์,ห้องทะเบียน-วัดผล
- ชั้นที่ 2-3 ห้องเรียนวิทยาศาสตร์
- อาคารเรียน 7 อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น ก่อสร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2554 ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของโรงเรียน
- ชั้นที่ 1 ห้องผู้อำนวยการ,ห้องสมุด, ศูนย์ภาษา, สำนักงานฝ่ายปกครอง
- ชั้นที่ 2-4 ห้องเรียน
- อาคารโรงอาหาร ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2534 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 2 ชั้น ชั้นบนเป็นหอประชุม ชั้นล่างเป็นโรงอาหาร
- อาคารหอประชุม ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2534 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 2 ชั้น ชั้นบนเป็นหอประชุม ชั้นล่างเป็นโรงอาหาร
- อาคารประชาสัมพันธ์
- สำนักงานฝ่ายบริการ (บ้านพักผู้อำนวยการเดิม)
- อาคารโรงฝึกพลศึกษา ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2522 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 ชั้น เป็นอาคารอเนกประสงค์ ใช้เล่นกีฬา จัดกิจกรรมต่างๆ โดยตั้งอยู่ทางทิศใต้ของโรงเรียน ประกอบไปด้วยห้องดนตรีพื้นเมือง และห้องพักครูพลศึกษา
- ศูนย์กีฬา/Sport Complex สระว่ายน้ำ
- ศูนย์บริการทางการแพทย์ (งานอนามัยโรงเรียน) เป็นอาคาร 1 ชั้น
- ห้องสมุด
- อาคารอุตสาหกรรม อาคารอุตสาหกรรมก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2515 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว ใช้เป็นห้องปฏิบัตการอุตสาหกรรม
- อาคารเกษตรกรรม/อาคารคหกรรม ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2515 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว ใช้เป็นห้องต่างๆดังนี้ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี,ห้องปฏิบัตการเกษตรกรรม และห้องปฏิบัติการคหกรรม
- อาคารศิลปะ/อุตสาหกรรม อาคารสิลปศึกษา ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2522 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ประกอบไปด้วยห้องต่างๆดังนี้ ห้องปฏิบัติการศิลปศึกษา(ทัศนศิลป์),ห้องปฏิบัติการศิลปศึกษา(โยธวาฑิต) และห้องปฏิบัตการอุตสาหกรรม
โครงการ Mini English Program : MEP และ Intensive Program : IP
- โครงการ Mini English Program หรือ MEP จัดการเรียนการสอนรายวิชา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ ภาษาอังกฤษ โดยใช้ภาษาอังกฤษจากชาวต่างชาติ อิงการสอนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ โครงการ MEP เป็นหลักสูตรชั้นมัธยมตอนต้น
- โครงการ Intensive Program หรือ IP เป็นโครงการที่ส่งเสริมความสามารถทางภาษา ศิลปะ และสังคมที่สอนโดยใช้ภาษาอังกฤษจากชาวต่างชาติ อิงการสอนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ โครงการ IP เป็นหลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
- โครงการ IP ยังเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนด้านภาษาที่ 3 อีกด้วย โดยโครงการได้จัดให้นักเรียนได้เลือกศึกษาภาษาที่ผู้เรียนสนใจ ดังนี้ 1. ภาษาจีน 2. ภาษาเกาหลี 3. ภาษาญี่ปุ่น
- นักเรียนที่จบการศึกษาจากโครงการ IP สามารถศึกษาต่อในด้าน มนุษยศาสตร์, คณะอักษรศาสตร์, ศิลปศาสตร์, นิเทศศาสตร์, สื่อสารมวลชน, วารสารศาสตร์, ศึกษาศาสตร์, การจัดการบริหารธุรกิจ, การโรงแรมและการท่องเที่ยว, นิติศาสตร์, รัฐศาสตร์ หรือการเมืองการปกครองในระบบอุดมศึกษา
โครงการ Gifted (ส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์) [TSM & GC]
Gifted คือ โครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เด็กผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์มีความรู้ ทักษะ กระบวนการคิดมากยิ่งขึ้น โดยการพัฒนาเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์นี้ทุกด้าน ซึ่งในปี พ.ศ. 2550 ได้เปิดทำการสอนห้องเรียน Gifted รุ่นที่ 1 เป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียน จำนวน 1 ห้องเรียน
.
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://th.wikipedia.org
แหล่งข้อมูลอื่น
- เว็บไซต์โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์
- โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ ที่เฟซบุ๊ก
- ข้อมูลพื้นฐานโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ในระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.
- แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 เวลา 22:32 น.